วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

พญาตานี....ปืนใหญ่

"พญาตานี" ปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีอายุเก่าแก่ราว 400 ปี และตั้งแสดงในตำแหน่งประธานของกลุ่มปืนใหญ่หน้ากระทรวงกลาโหม เป็นภาพสะท้อนความรุ่งเรืองของรัฐปัตตานีในอดีต ที่ครั้งหนึ่งถูกปกครองโดยราชินีผู้นำบ้านเมืองต่อต้านการรุกรานจากอาณาจักรใหญ่อย่างกรุงศรีอยุธยาได้ และยังนำพารัฐเปิดประตูการค้ากับนานาประเทศได้ไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา





นางพญาตานี
ปัตตานี ดารุสสลาม นครแห่งสันติ เกิดโศกนาฏกรรมต่อเนื่องกัน ถึงกับหมดผู้สืบบัลลังก์ฝ่ายชาย [ปรับปรุงใหม่จากข้อเขียนของ ปรามินทร์ เครือทอง ในศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2547)]
สมัยต่อจากนี้จึงถูกปกครองโดย "กษัตริยา" ต่อเนื่องกันถึง 4 พระองค์ ในระยะเวลา 67 ปี ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของปัตตานี
ราชินีปัตตานี 3 พระองค์แรกเป็นพี่น้องกัน และสืบราชสมบัติต่อเนื่องกัน คือ ราชินีฮีเยา (Raja Hijau) ราชินีบีรู (Raja Biru) และราชินีอูรู (Raja Ungu) ส่วนราชินีพระองค์สุดท้ายเป็นราชธิดาของราชินีอูรู มีพระนามว่าราชินีกูนิง (Raja Kuning)
ราชินีทั้ง 4 พระองค์ทำให้ปัตตานีแข็งแกร่งและเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก เป็นยุคที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศจนเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญในภูมิภาคนี้ ทำให้สยามมุ่งหวังที่จะครอบครองผลประโยชน์แห่งนี้เสมอมา
ยุคนี้จึงทำให้ปัตตานีต้องทำสงครามกับสยามหลายครั้ง แต่กองทัพกรุงศรีอยุธยา ก็ไม่สามารถปราบปัตตานีได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ปืนใหญ่
การที่ปัตตานีจำเป็นต้องป้องกันตัวเองจากการรุกรานของกองทัพสยามและพันธมิตร จึงมีการก่อสร้างพระราชวังอย่างเข้มแข็ง และสร้างอาวุธที่ทรงอานุภาพที่สุด ในเวลานั้นคือ ปืนใหญ่ ซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะยันกองทัพสยามไว้ได้

หลักฐานชิ้นสำคัญของปืนใหญ่อานุภาพสูงก็คือ ปืนพญาตานี เป็นปืนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งตั้งแสดงอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมในปัจจุบัน

ตำนานพญาตานี

ตำนานการสร้างปืนใหญ่พญาตานี มีประวัติความเป็นมาที่คลุมเครือ ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าสร้างขึ้นในสมัยใด มีการกล่าวถึงประวัติการสร้างไว้หลายสำนวน   แต่โดยสรุปมีข้อสันนิษฐานเรื่องผู้สร้างปืนพญาตานีไว้ 3 พระองค์ คือ  สุลต่านอิสมาเอล ชาฮ์ (2043-2073) สร้างโดยช่างชาว?โรมัน? ชื่ออับดุลซามัค
อีก 2 พระองค์ที่เป็นไปได้คือ ราชินีฮีเยา (2127-2159) ราชินีบีรู (2159-2167) สร้างโดยลิ้มโต๊ะเคี่ยม ชาวจีน ช่างหล่อปืนทั้ง 2 คนนี้เป็นชาวพื้นเมือง ซึ่งสอดคล้องกับเทคนิคการหล่อปืนพญาตานีว่าเป็นฝีมือของช่างชาวพื้นเมือง ไม่ใช่เป็นปืนนำเข้าจาก ที่อื่น
ปืนพญาตานีนี้มีขนาดที่บันทึกไว้ในเอกสารว่า ยาว 3 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 นิ้วครึ่ง ปากกระบอกกว้าง 11 นิ้ว
เมื่อสำรวจใหม่เทียบกับมาตราปัจจุบัน เส้นผ่าศูนย์กลางปากลำกล้อง 24 เซนติเมตร ยาว 6.82 เมตร ขอบปากลำกล้องหนา 10 เซนติเมตร
หล่อด้วยสำริด ลำกล้องเรียบ บรรจุกระสุนทางปากกระบอก มีหูระวิง และห่วงคล้องสำหรับยก 2 คู่
ท้ายปืนหล่อตันเป็นรูปสังข์ เพลาสลักรูปราชสีห์ มีคำจารึก? "พญาตานิ"? และขนาดดินดำที่ใช้บรรจุเพื่อยิง
ปืนพญาตานีเข้ากรุงเทพฯ
ในปี 2329 พม่ายกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท เสด็จยกทัพหลวงลงไปปราบปราม จากนั้นไปตีเมืองปัตตานี จนยึดเมืองได้สำเร็จ
กรมพระราชวังบวรฯ ทรงรับแจ้งว่าพบปืนใหญ่ 2 กระบอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้นำปืนทั้ง 2 กระบอกกลับกรุงเทพฯ เพื่อตัดรอนไม่ให้ปัตตานีแข็งขืนได้อีก "แต่ปืนกระบอกหนึ่งตกน้ำเสียที่ท่า หน้าเมืองปัตตานี ได้ไปแต่กระบอกเดียว คือปืนนางพระยาปัตตานีเดี๋ยวนี้"?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น